เดินเหินได้เป็นสุข ลุกนั่งสบาย นอนได้ไม่ปวดหลัง นี่คือความสุขยามชรา

ความสุขของผู้สูงวัยประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การเดินเหินได้เป็นสุข ลุกนั่งสบาย ซึ่งการที่วัยชรามาเยือน ก็มักจะตามมาด้วยความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหา กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ จะมีการสึกหรอไปตามขบวนการทางธรรมชาติ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Degenerative Process และโรคฮิตที่จะเกิดได้บ่อย คือ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดสะโพก ซึ่งล้วนมาจาก การเสื่อมของข้อต่างๆของร่างกาย หลายคน จะนั่งก็ยาก จะลุกก็ยาก ปวดเข่าจนไม่อยากจะไปไหน และก็ยิ่งไม่ยอมเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา คือ กล้ามเนื้อเมื่อไม่ใช้งานก็ลีบลง ๆ ความไม่รู้เท่าทันว่า ยิ่งกล้ามเนื้อต้นขาลีบลง อาการปวดเข่าซึ่ง เดิมพอที่จะมีการพยุงของกล้ามเนื้อต้นขา ช่วย Support และ Splint ไม่ให้เข่าสึกมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อน้อยลง ก็จะปวดเข่ามากขึ้น และการฟื้นฟูก็จะยากลำบากกว่าเดิม อาวุโสไทย ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ จัดทำ แบบคัดกรองโรคเข่าเสื่อม เพื่อให้ทุกท่านอาวุโส ค้นหาปัญหา และรีบแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป สำหรับความรู้เรื่อง ปวดหลัง ปวดขา และโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อต่างๆ เราจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไป

โรคข้อเสื่อม

บทความนี้นำมาจาก เว็บไซต์ของ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดย เจ้าของบทความ คือ รศ.นพ.พัชรพล อุดมเกียรติ ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่กรุณาให้ความรู้แก่ประชาชน

ข้อเข่าเสื่อมสัญญาณอันตรายที่คุณอาจไม่รู้ตัว

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยกระดูกและข้อเพิ่มขึ้นเป็น 570 ล้านคน โรคที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ คือโรคข้อเสื่อม ซึ่งในประเทศไทยเองมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม

นายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม อธิบายว่า ปัญหาโรคข้อเข่าอักเสบเนื่องจากข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงวัย เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ข้อเข่าที่รองรับน้ำหนักมานาน จะทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อยุบตัว และมีความยืดหยุ่นน้อย ซึ่งเกิดจากการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว ส่งผลให้ผิวข้อเข่าสึกกร่อน บางลงและไม่เรียบ จนนำไปสู่ความเสื่อมส่งผลให้เกิดอาการ “ปวดเข่า”

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ มีอายุ 50 ปีขึ้นไป, เป็นความผิดปกติแต่กําเนิดของข้อเข่า, นั่งงอเข่าเป็นประจำและต่อเนื่องยาวนาน เช่น นั่งพับงอเข่า, นั่งยองๆ, คุกเข่า, พับเพียบ, หรือนั่งขัดสมาธิ เป็นต้น, มีโรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคข้อติดแข็ง โรคติดเชื้อ เป็นต้น, มีน้ำหนักตัวมาก, เคยประสบอุบัติเหตุต่อข้อเข่า เช่น ข้อเข่าเคลื่อนหลุด ,กระดูกหักบริเวณรอบข้อเข่า เอ็นเข่าฉีกหรือหมอนรองกระดูกฉีก เป็นต้น, พันธุกรรม, ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง, และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมเป็นประจำ อาการแรกเริ่มของโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเข่าเมื่อเคลื่อนไหว โดยเฉพาะตอนลุกขึ้นหรือคุกเข่า แต่หากเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่อง, มีเสียงดังในข้อเวลาเคลื่อนไหว, ข้อเข่าบวม ข้อเข่าอักเสบ, ข้อเข่าโก่งงอ ผิดรูป, และข้อเข่ายึดติด ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์ หรือ MRI และประเมินการรักษาที่เหมาะสม

สัญญาณอันตรายโรคเข่าเสื่อม

แบบคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อม 12 ข้อ Version ภาษาไทย แปลจาก Oxford Knee Score

Create your own user feedback survey

ความรู้เรื่อง โรคพาร์กินสัน

Reference เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29688

วันที่ 11 เมษายน ถูกกำหนดให้เป็นวันพาร์กินสันโลก

รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง คณะกรรมการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease หรือโรคสั่นสันนิบาต) ถือเป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากพบในประชากรทั่วโลกที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 2-3 แต่ก็สามารถพบโรคนี้ในคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปีได้เช่นกัน และอาการของตัวโรคส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย

โรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองอย่างช้า ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ในสมองลดลง จากนั้นก่อให้เกิดอาการของโรคตามมา กลุ่มที่เสี่ยงสำหรับโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสัน และการมีประวัติการใช้สารฆ่าแมลง

แม้ว่าตัวโรคพาร์กินสันจะไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่มีอีกหนึ่งกลุ่มโรคซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันแต่มีสาเหตุแน่ชัด ซึ่งสาเหตุบางอย่างสามารถรักษาให้หายขาดได้ เรียกว่า กลุ่มโรคพาร์กินสันเทียม สาเหตุที่พบได้บ่อยในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยารักษาโรคจิต) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำและโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ

อาการของโรคพาร์กินสัน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการหลัก คือ อาการทางการเคลื่อนไหวและอาการระบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว อาการทางการเคลื่อนไหวที่บุคคลทั่วไปพอทราบกันนั้นคืออาการสั่น แต่นอกจากอาการสั่นแล้วยังมีอาการอื่นอีก ได้แก่ เคลื่อนไหวช้า ร่างกายแข็งเกร็ง หลังค่อม เดินลำบากและล้มง่าย ส่วนอาการระบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวก็ถือว่าพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้เช่นกัน เช่น ท้องผูก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนละเมอ ซึมเศร้า หลงลืมหรืออาจถึงขั้นสมองเสื่อมได้หากเป็นโรคนี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งอาการด้านนี้ก็ถือว่าเป็นอาการสำคัญที่ควรรู้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้มาก

การรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันเน้นรักษาตามอาการเป็นหลัก การรักษาถูกแบ่งออกเป็นการรักษาโดยใช้ยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา ในส่วนของการรักษาโดยใช้ยาจะเป็นการให้ยากลุ่มที่เพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนในสมอง เช่น ยาเลโวโดปา (Levodopa) ยาเสริมโดปามีน (Dopamine Agonists) หรือยาที่ทำให้โดปามีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ในส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยา แบ่งออกเป็น การผ่าตัดซึ่งมักจะทำเฉพาะในรายที่มีอาการมาก และการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การทำกายภาพบำบัด (physiotherapy) หรือการทำอรรถบำบัด (speech therapy) นอกจากการรักษาดังวิธีที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น การออกกำลังกายบางประเภท

เช่น รำไท้เก๊ก เต้นแทงโก้ เดินบนลู่วิ่ง และปั่นจักรยาน ก็ทำให้ความสามารถในด้านของการเคลื่อนไหว การทรงตัวและการเดินของผู้ป่วยดีขึ้นได้

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น โดยโรงพยาบาลที่มีการให้การรักษาโรคนี้ก็มีตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งหากมีผู้ใดที่สงสัยว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ก็สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ หากอาการไม่ชัดเจนหรือยังไม่สามารถสรุปวินิจฉัยได้แน่ชัด ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น หรือมีแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อดูแลรักษาต่อ

โดยสรุปแล้วในปัจจุบันโรคพาร์กินสันถือเป็นโรคที่สำคัญและพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการของตัวโรคนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้น การตระหนักรู้ถึงตัวโรคและการรักษาถือเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข